วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2552




พระราชกรณียกิจอันสำคัญที่ควรกล่าวถึงในเรื่องการอนุรักษ์และการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย คือการพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หัดละครผู้หญิงกันได้โดยทั่วไป และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำบทพระราชนิพนธ์ไปเล่นได้
เมื่อเริ่มรัชกาล ยังไม่มีละครหลวง เพราะละครหลวงเลิกไปเสียแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงรัชสมัยของพระองค์มิได้ทรงรังเกียจ ดังนั้นสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี จึงทรงหัดละครเด็กผู้หญิงในพระบรมมหาราชวังขึ้นชุดหนึ่ง แต่ไม่ทันได้ออกแสดง เนื่องจากสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดีได้สิ้นพระชนม์ก่อน ต่อมาเมื่อทรงรับช้างเผือก (คือพระวิมลรัตน กิริณี) สู่พระบารมี ใน พ.ศ. 2396 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมละครของสมเด็จพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ฝึกหัดเป็นละครหลวงได้ออกโรงเล่นสมโภชช้างเผือกเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2397
ในรัชกาลนี้ โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่าด้วย ละครผู้หญิง พ.ศ. 2398 โปรดอนุญาตให้เจ้านาย ขุนนาง และผู้มีบรรดาศักดิ์หัดละครผู้หญิงขึ้นได้ แต่ได้ขอจำกัดสิทธิ์บางประการไว้สำหรับละครหลวง เช่นรัดเกล้ายอด เครื่องแต่งตัวลงยา พานทอง หีบทอง ซึ่งใช้เป็นเครื่องยศ เครื่องประโคมแตรสังข์ และห้ามมิให้บังคับผู้ที่ไม่สมัครใจเล่นละครให้ได้รับความเดือดร้อน จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 2 58 (หอพระสมุดวชิรญาณ 2465 : 55-56) ความว่า "...แต่ก่อนในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แลแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย มีลครผู้หญิงแต่ในหลวงแห่งเดียว ด้วยมีพระราชบัญญัติห้ามมิให้พระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝึกหัดลครผู้หญิง เพราะฉนั้นข้างนอกจึงไม่มีใครเล่นลครผู้หญิงได้ ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดลคร แต่ทว่าทรงแช่งชักติเตียนจะไม่ให้ผู้อื่นเล่น ถึงกระนั้นก็มีผู้ลักเล่นเงียบ ๆ อยู่ด้วยกันหลายราย มาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ พระราชวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย ผู้ใดเล่นลครผู้ชายผู้หญิงก็มิได้ทรงรังเกียจเลย ทรงเห็นว่ามีลครด้วยกันหลายรายดี บ้านเมืองจะได้ครึกครื้น จะได้เปนเกียรติยศแผ่นดิน เดี๋ยวนี้ท่านทั้งปวงเห็นว่าลครในหลวงมีขึ้นก็หามีใครเล่นลครเหมือนอย่างแต่ก่อนไม่ คอยจะกลัวผิดแลชอบอยู่ การอันนี้มิได้ทรงรังเกียจเลย ท่านทั้งปวงเคยเล่นอยู่แต่ก่อนอย่างไรก็ให้เล่นไปเถิด ในหลวงมีการงานอะไรบ้าง ก็จะได้โปรดหาเข้ามาเล่นถวายทอด พระเนตรบ้าง จะได้พระราชทานเงินโรงรางวัลให้บ้าง ผู้ใดจะเล่นก็เล่นเถิด ขอยกเสียแต่รัดเกล้ายอดอย่างหนึ่ง เครื่องแต่งตัวลงยาอย่างหนึ่ง พานทองหีบทองเปนเครื่องยศอย่างหนึ่ง เมื่อบททำขวัญยกแต่แตรสังข์อย่างหนึ่ง แล้วอย่าให้ฉุดบุตรชายหญิงที่เขาไม่สมัคเอามาเปนลคร ให้เขาได้ความเดือดร้อนอย่างหนึ่ง ขอห้ามไว้แต่การเหล่านี้ ให้ท่านทั้งปวงเล่นไปเหมือนอย่างแต่ก่อนเถิด"
การที่ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใครก็มีละครผู้หญิงได้ การแสดงละครชายจริงหญิงแท้ เริ่มมีเป็นครั้งแรกในสมัยของพระองค์นี้เอง และเกิดการเปลี่ยนแปลงการเล่นละครซึ่งเดิมเป็นละครผู้ชาย กลายเป็นผู้หญิงเล่นแทบทั่วทั้งเมือง ผู้คนก็ชอบดูละครผู้หญิง ดังนั้นละครผู้หญิงจึงแพร่หลาย เจ้าของละครได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการรับงานละครไว้มาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งภาษีโขน-ละคร เพื่อให้เจ้าของละครได้ช่วยเหลือแผ่นดินบ้าง เรียกว่าภาษีโรงละคร พิกัดที่เก็บภาษีละคร เก็บดังนี้คือ
ละครโรงใหญ่เล่นเรื่องละครใน
เล่นเรื่องรามเกียรติ์ เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 20 บาท เล่นเรื่องอิเหนา เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 16 บาท เล่นเรื่องอุณรุท เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 12 บาท
ละครเล่นเรื่องละครนอก
ละครกุมปนี คือเลือกคัดแต่ตัวดีเล่นประสมโรงกัน เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นวันกับคืน 1 ภาษี 3 บาท ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นวัน 1 ภาษี 2 บาท ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นคืน 1 ภาษี 1 บาท ละครเล่นงานเหมา เล่นวันกับคืน 1 ภาษี 1 บาท 50 สตางค์ ละครเล่นงานเหมา เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท ละครเล่นงานเหมา เล่นคืน 1 ภาษี 50 สตางค์ ละครหลวง และละครที่เกณฑ์เล่นงานหลวง ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี กับยังมีการเล่นอย่างอื่นรวมอยู่ในภาษีละครอีกหลายอย่าง จะกล่าวไว้ด้วยพอให้ทราบความเป็นมา คือ โขน เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท ละครหน้าจอหนัง เล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป เล่นคืน 1 ภาษี 2 บาท 50 สตางค์ ละครชาตรีและละครแขก เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์ เพลง เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท แคน มอญรำ ทวายรำ เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์ กลองยาว เล่นวัน 1 ภาษี 12 สตางค์ครึ่ง หุ่นไทย เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท หนังไทย เล่นคืน 1 ภาษี 50 สตางค์ งิ้ว เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท หุ่นจีน เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท หนังจีน เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์
การแสดงเบิกโรงละครใน ก่อนที่จะแสดงละครใน จะต้องมีการแสดงชุดเบิกโรงเสียก่อน โดยผู้แสดงละครใน 2 คน แต่งกายยืนเครื่องพระ สวมหัวเทวดาโล้น สองมือกำหางนกยูง (หัวเทวดาที่ไม่มีมงกุฏ) ออกมารำเบิกโรง เรียกว่า รำประเลง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงคิดประดิษฐ์ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง โดยเอาแบบมาจากเครื่องราชบรรณาการ เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในการรำเบิกโรง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงการแสดงรำเบิกโรงละครในจากชุดรำประเลง มาเป็นรำดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง โดยใช้ผู้แสดงละครใน 2 คน แต่งกายยืนเครื่องพระ สวมชฏาแทนสวมหัวเทวดาโล้น สองมือถือดอกไม้เงินดอกไม้ทองแทนหางนกยูง แล้วทรงพระราชนิพนธ์บทขับร้องประกอบการรำดอกไม้เงินดอกไม้ทองขึ้นใหม่ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2463 : 1)
“เมื่อนั้น ไทท้าวเทพบุตรบุรุษสองสองมือถือดอกไม้เงินทอง ป้องหน้าออกมาว่าจะรำเบิกโรงละครในให้ประหลาด มีวิลาศน่าชมคมขำท่าก็งามตามครูดูแม่นยำ เปนแต่ทำอย่างใหม่มิใช่ฟ้อนหางนกยูงอย่างเก่าเขาเล่นมาก ไม่เห็นหลากจืดตามาแต่ก่อนคงแต่ท่าไว้ให้งามตามละคร ที่แต่งตนก้นไม่งอนตามโบราณรำไปให้เห็นเปนเกียรติยศ ปรากฏทุกตำแหน่งแหล่งสถานว่าพวกฟ้อนฝ่ายในใช้ราชการ สำหรับพระภูบาลสำราญรมย์ย่อมช่วงใช้ดอกไม้เงินทอง ไม่เหมือนของเขาอื่นมีถื่นถมถึงผิดอย่างไปใครจะไม่ชม ก็ควรนิยมว่าเปนมงคลเอย”ฯ 10 คำ ฯ
ละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่
1. เจ้าจอมมารดาวาด เป็นตัวอิเหนา มีชื่อเสียงมาก ร่ายรำได้งดงามทั้งฝีมือและรูปร่าง ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นท้าววรจันทร์ เป็นครู อิเหนา ละครหลวงกรมมหรสพ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นครูพิเศษแก่คณะละครวังสวนกุหลาบ
2. เจ้าจอมมารดาเขียน เป็นตัวอิเหนา เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นผู้หัดละครรำของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พระราชโอรส) เป็นครูพิเศษให้กับละครวังสวนกุหลาบ กระบวนท่ารำที่ท่านคิดค้นขึ้น คือ ท่ารำของละครพันทางเรื่องพระลอ ท่ารำในละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า (ละครร้องเรื่องแรก) ตอนสาวเครือฟ้าแต่งตัวคุณครูเฉลย ศุขะวณิช ท่านได้จดจำนำมาถ่ายทอดให้กับศิษย์ในวิทยาลัยนาฏศิลป
3. เจ้าจอมมารดาสุ่น เป็นตัววิหยาสะกำ ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเป็นท้าววนิดาวิจาริณี
4. ท้าวชื่น เป็นตัวประสันตา ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอม- เกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเป็นท้าวอินสุริยา
5. คุณสัมฤทธิ์ เป็นตัวจรกา ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
6. เจ้าจอมมารดาสาย เป็นยืนเครื่องชั้นเด็กในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครูละครในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และครูละครคณะละครวังสวนกุหลาบ ได้รับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำของนางละครหลวง อาทิ ท่ารำฉุยฉายสองนาง (รำเบิกโรงที่แต่งขึ้นใหม่ ใน รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
7. คุณลิ้นจี่ เป็นตัวทศกัณฐ์ มีชื่อมาก ไม่มีผู้ใดสู้ได้ทั้งหญิง-ชาย เล่ากันว่า เมื่อท่านถึงแก่กรรม (ในรัชกาลที่ 4) แล้ว ไม่โปรดให้ละครหลวงเล่นเรื่องรามเกียรติ์ตอนที่มีบททศกัณฐ์ตลอดรัชกาล ท่านเป็นครูละครให้กับเจ้าจอมมารดาวัน
8. คุณเล็ก เป็นตัวนนทุก เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เป็นท้าวโสภานิเวศน์
9. คุณกุหลาบ ธิดาเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) เจ้าเมืองสงขลา เป็นตัวทศกัณฐ์นั่งเมือง ได้ไปเป็นครูฝึกละครที่เมืองสงขลาด้วย
10. เจ้าจอมมารดาเอม เป็นตัวนางมะเดหวี เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
11. เจ้าจอมมารดาห่วง เป็นตัวนางจินตะหรา เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
12. เจ้าจอมมารดาทับทิม เมื่อยังเป็นเด็กอยู่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตัว นางแมว ถึงรัชกาลที่ 5 เป็นตัวนางเกนหลงหนึ่งหรัด ได้เป็นเจ้าจอม เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นครูละครคณะวังสวนกุหลาบ กระบวนท่ารำที่สืบทอดมาในปัจจุบัน ท่านได้ถ่ายทอดกระบวนท่าตัวนางเอกทั้งหมดให้กับละครวังสวนกุหลาบ โดยเฉพาะท่านางเมขลานั่งวิมาน ท่านางแมวในเรื่องไชยเชษฐ์
13. คุณลำไย เป็นตัวนางประเสหรัน ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
14. คุณลำไย (น้องคุณลิ้นจี่) เป็นตัวนาง บาหยัน ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
15. คุณอรุน เป็นตัวนางบุษบาชั้นใหญ่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นภรรยาพระยาอรรคราชวราทร (เนตร) ได้กลับเข้ามาเป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
16. เจ้าจอมละม้าย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นตัวนางชั้นเด็ก ได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นครูละครวังสวนกุหลาบ

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น